กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 30 ธ.ค. 67
ย้อนมองปี พ.ศ. 2567 สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงมีอยู่ เส้นแบ่งระหว่างประชาธิปไตยกับอำนาจนิยมมีความชัดเจนยิ่งขึ้น สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อ ขณะที่สถานการณ์ในตะวันออกกลาง ทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี และแม้แต่พื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 ต่างสะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มประเทศแห่งความวุ่นวายที่ประสานความร่วมมือกันสร้างความท้าทายระดับโลก ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกที เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2567 ไต้หวันจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี ครั้งที่ 8 ซึ่งถือเป็นหลักชัยใหม่ในการวางรากฐานแห่งการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งสถานการณ์ช่องแคบไต้หวันได้รับการเฝ้าจับตาจากประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่อินโด – แปซิฟิก ได้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์ระดับโลก ความเป็นไปข้างต้น ล้วนแต่มีความเกี่ยวพันกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของไต้หวันเป็นอย่างมาก
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในต่างแดน ยืนหยัดในความทรหดและมีความเชื่อมั่นในการปกป้องอำนาจอธิปไตย ศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ของไต้หวันและประชาชน โดยประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เสนอวิสัยทัศน์ “การทูตเชิงค่านิยม” และ “ดินแดนแห่งเศรษฐกิจที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” ภายใต้ “การทูตเชิงบูรณาการ” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “การทูตอย่างเป็นรูปธรรม” ที่สืบสานมาเป็นระยะเวลา 8 ปี ควบคู่ไปกับการขยายความร่วมมือและเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วน ตามหลักการ “ประชาธิปไตย” “สันติภาพ” และ “ความเจริญรุ่งเรือง” ตลอดจนร่วมสร้างความเจริญรุ่งเรืองที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันกับกลุ่มประเทศพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน
ภายใต้การสนับสนุนของประชาชนในไต้หวัน กต.ไต้หวันและสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันประจำต่างแดน ต่างมุ่งผลักดันการทูตระดับผู้นำอย่างเต็มที่ ซึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ปธน.ไล่ฯ ได้ออกเดินทางเยือนประเทศพันธมิตรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก ประกอบด้วย หมู่เกาะมาร์แชลล์ ตูวาลูและปาเลา ตามภารกิจใน “แผนสร้างความเจริญรุ่งเรืองในกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรนีเซียน มุ่งสู่ความยั่งยืนอัจฉริยะ” เป็นระยะเวลา 7 วัน 6 คืน ซึ่งประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของการเดินทางในครั้งนี้ 3 ประการ ได้แก่ “ความยั่งยืนในรูปแบบอัจฉริยะ” “ความยั่งยืนด้านประชาธิปไตย” และ “ความยั่งยืนด้านมิตรภาพระหว่างประเทศพันธมิตร” ตลอดจนประสบความราบรื่นในการแวะเยือนเกาะฮาวายและเกาะกวมของสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศพันธมิตรแล้ว ยังเป็นการเปิดบริบทใหม่ด้านการทูตเชิงค่านิยมอีกด้วย
นอกจากนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2567 นายหลินเจียหลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้เดินทางเยือนเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ในฐานะทูตพิเศษที่ได้รับมอบหมายจากปธน.ไล่ฯ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 45 ปีแห่งการประกาศเอกราชของเซนต์วินเซนต์ฯ พร้อมแวะเยือนกัวเตมาลา เซนต์ลูเซีย เบลีซและเซนต์คิดส์และเนวิส และเพื่อเป็นสักขีพยานต่อผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากนโยบายทางการทูต เศรษฐกิจและการค้า อีกทั้งในเดือนพฤศจิกายน 2567 รมว.หลินฯ ยังได้ออกเดินทางเยือนรัฐสภายุโรป ที่ตั้งอยู่ในประเทศเบลเยี่ยม พร้อมแวะเยือนลิทัวเนียและโปแลนด์ โดยใช้โอกาสนี้เสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตย ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน
ในปีนี้ พลังเสียงสนับสนุนไต้หวันจากประชาคมโลกขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด อันจะเห็นได้จากหลังเสร็จสิ้นการจัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในเดือนมกราคม ไต้หวันได้รับคำอวยพรจากบุคคลสำคัญทางการเมืองจำนวนกว่า 1,600 คนจาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก ประกอบกับกลุ่มประเทศพันธมิตรและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ต่างทยอยร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ พร้อมทั้งแสดงจุดยืนว่า การธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นฉันทามติร่วมกันของประชาคมโลก ตลอดจนให้การยกย่องไต้หวันว่าเป็นพลังแห่งความดีของโลก และเป็นต้นแบบในการปกป้องค่านิยมด้านประชาธิปไตย ส่งมอบความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรมและสร้างคุณประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยไต้หวันยังแสดงศักยภาพในด้านซอฟต์พาวเวอร์อย่างต่อเนื่อง ผลักดันการทูตโดยภาคประชาชน และมุ่งคว้าพลังเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลกอย่างกระตือรือร้น ควบคู่ไปกับการบูรณาการทรัพยากรจากทุกหน่วยงาน ในการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางการทูตในภาพรวม ตลอดแสวงหาแนวทางในการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคประชาชน อาทิ การขออนุมัติมาตรการการยกเว้นการตรวจลงตรากับนานาประเทศ และการบริหารราชการด้วยระบบดิจิทัล
นอกจากนี้ กต.ไต้หวันยังได้วางแผนผลักดัน “โครงการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศพันธมิตร” ด้วยการจัดตั้งโครงการความหวังของชาติใน 8 มิติ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานอุตสาหกรรมที่เชื่อถือได้ 5 รายการ ได้แก่ “ความทรหดของระบบห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์” “ระบบอินเทอร์เน็ตและการบริหารราชการด้วยระบบดิจิทัลที่เชื่อถือได้” “พลังงานรูปแบบใหม่และความร่วมมือในคาร์บอนเครดิต” “โครงการต้นแบบสวนอัจฉริยะในต่างแดน” “อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์อัจฉริยะ” “การเกษตรใหม่ในรูปแบบอัจฉริยะ” “อธิปไตยทางปัญญาประดิษฐ์” และ “การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้อุตสาหกรรมข้อได้เปรียบของไต้หวัน ควบคู่ไปกับการบูรณาการทรัพยากรจากทุกหน่วยงาน หลอมรวมกันเป็นแผนโซลูชันรูปแบบอัจฉริยะ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศเป้าหมาย อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมทางประชาธิปไตย
นับแต่นี้เป็นต้นไป กต.ไต้หวันจะมุ่งยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการแก่ภาคประชาชน และจะประยุกต์ใช้ข้อได้เปรียบของไต้หวันในการก้าวสู่สังคมโลก อีกทั้งจะมุ่งผลักดันการทูตในหลากหลายมิติ ทั้งการทูตเทคโนโลยี การทูตสิทธิมนุษยชน การทูตวัฒนธรรม การทูตรัฐสภา การทูตการแพทย์และสาธารณสุข การทูตสิ่งแวดล้อม การทูตชนพื้นเมือง การทูตศาสนา และการทูตความเสมอภาคทางเพศ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมโลกมีความเข้าใจต่อความสำคัญของไต้หวันเพิ่มมากยิ่งขึ้น
สำหรับทิศทางการพัฒนาในปี พ.ศ. 2568 ไต้หวันจะยึดมั่นในความมั่นใจ ความทรหด ความเชี่ยวชาญ และทัศนคติที่ยืดหยุ่นในการรับมือกับบริบทใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพตามหลักการ “ไต้หวันช่วยได้” (Taiwan Can Help) และ “ไต้หวันเป็นผู้นำ” (Taiwan Can Lead)
สรุปผลงานด้านการทูตปี 2024: สร้างไต้หวันใหม่ที่เปี่ยมด้วยประชาธิปไตย สันติภาพ และความรุ่งเรืองด้วย “การทูตเชิงบูรณาการ” (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
Source : 31/12/2024 Taiwan Today